ประวัติพระครูโพธิธรรมประภาส หรือ พระอาจารย์เชือน ปภัสสโร

ประวัติพระครูโพธิธรรมประภาส หรือ พระอาจารย์เชือน ปภัสสโร

 

 

เกิดเมืองใต้

พระอาจารย์เชือน ปภัสสโร เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 3 ของวัดประชาสันติ ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนจังหวัดพังงา มีบ้านเกิดอยู่ที่ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดพังงา

บิดาชื่อนายเลื่อน เกษร มารดาชื่อนางแดง เกสร มีพี่น้องด้วยกัน 7 คน คือผู้หญิง 5 คน ผู้ชาย 2 คน โดยพระอาจารย์เชือนเป็นบุตรคนสุดท้อง

พระอาจารย์เชือนเกิดเมื่อปีวอก ตรงกับวันพฤหัส เดือนมกราคม พ.ศ. 2487

 

การศึกษา

การศึกษาของท่านพระอาจารย์เชือน ได้ศึกษาที่โรงเรียนในถิ่นบ้านเกิด เมื่อจบภาคบังคับคือชั้นประถมปีที่ 4 แล้วก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำสวน

 

งานอาชีพ

ช่วงว่างจากงานสวนงานไร่ท่านจึงเข้าไปในเมืองมองหาลู่ทางเพิ่มพูนรายได้ จึงตัดสินใจเรียนช่างตัดผม เมื่อมีความชำนิชำนาญแล้วจึงได้มาประกอบอาชีพช่างตัดผมในตลาดพังงา หารายได้ส่งไปให้ครอบครัวที่บางเตย โดยท่านได้ประกอบอาชีพนี้เป็นเวลา 2 ปี

จากนั้นได้มีการถูกชักชวนให้ไปร่วมในกิจการใหม่ คือเป็นเจ้าหน้าที่ในเรือเดินสมุทรที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อท่านพิจารณาแล้วจึงตกลงไปตามคำชักชวนนั้นด้วยเห็นถึงความก้าวหน้า อีกทั้งยังมีรายได้เพิ่มขึ้น มีกำลังจุนเจือทางบ้านเพิ่มขึ้น

โดยเงินรายได้ที่ได้มาก็จะส่งมาจุนเจือทางบ้านทุกเดือน

 

เยี่ยมบ้านปี 2507

ในระหว่างที่ทำงานท่านจะได้กลับมาเยี่ยมบ้านปีละ 2 ครั้ง  และในการกลับมาบ้านเมื่อต้นปี 2507 เป็นปีที่ท่านอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงได้ถูกทาบทามจากผู้ใหญ่ให้บวชเรียน

โดยในตอนแรกท่านก็ให้การปฏิเสธถึงแม้ว่าจะเข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีดังกล่าว ด้วยเห็นว่าการงานที่กำลังทำอยู่กำลังเจริญก้าวหน้า ถึงแม้ว่าจะเริ่มทำมาได้เพียง 1 ปีเศษ แต่ก็เห็นแนวโน้มในกาลต่อไปได้บ้างแล้ว หากมาหยุดมาลาเป็นเวลานานๆ โอกาสอันดีที่จะพึงได้ก็อาจจะผ่านเลยไปได้

ฝ่ายญาติผู้ใหญ่ โดยเฉพาะพ่อแม่ซึ่งอยู่ในวัยชราแล้วเกรงว่าอาจจะอยู่ได้ไม่นาน อาจไม่ทันเห็นชายผ้าเหลืองของลูกจึงช่วยกันเจรจาหว่านล้อม โดยลดหย่อนให้ว่าหากบวชได้ไม่นานก็ขอเพียง 1 พรรษา 3 เดือนก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ แค่ 1 เดือนก็ยังดี

ด้วยอุปนิสัยของนายเชือน ปกติเป็นคนมีเหตุผล รู้ผิดชอบชั่วดี เชื่อฟังและปฏิบัติตามโอวาทของพ่อแม่ผู้ใหญ่เสมอมา เมื่อเห็นถึงความตั้งใจของท่านเป็นเช่นนั้นจึงไม่กล้าที่จะขัดขืนยอมโอนอ่อนผ่อนตาม

แต่ท่านก็มีข้อแม้อยู่ว่าพิธีบวชจะกระทำในกลางปี ในช่วงที่ท่านจะกลับมาเยี่ยมบ้านในคราวหน้า แต่จะบวชได้ยาวนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับคำอนุญาตของบริษัทเรือเดินสมุทรว่าจะอนุญาตให้ลางานยาวแค่ไหน

หลังจากเจรจาพาที เป็นที่ตกลงกันได้เรียบร้อยแล้ว นายเชือนก็เดินทางกลับประเทศมาเลเซีย ไปทำงานเพื่อหารายได้ตามที่มีเจตนาไว้ในหน้าที่ของตนที่ดำรงอยู่ในเวลานั้น

กลับไปได้ไม่นานนัก ได้มีจดหมายแจ้งข่าวกลับมาห้างบ้านทราบว่าเรื่องการลางานมาบวชนั้น ทางบริษัทไม่ขัดข้อง อนุญาตให้ลาได้เป็นเวลาถึง 6 เดือน และให้กำหนดเวลาเอาเองว่าจะลาตั้งแต่วันไหน เพียงให้ทำเรื่องเสนอผู้บริหารเพื่อลงชื่ออนุมัติเท่านั้น

เมื่อได้รับข่าววันกำหนดที่จะบวช จากทางบ้านแจ้งไปให้ทราบ นายเชือนจึงได้ทำเรื่องลาบวชแล้วเดินทางกลับบ้านเกิดด้วยความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามคำร้องขอของบรรดาญาติผู้ใหญ่ โดยได้กลับมาถึงบ้านก่อนวันเข้าพรรษาของปีนั้นประมาณ 2 เดือนเศษ

 

ญาติกำหนด

ท่านพระอาจารย์เชือนได้เปิดเผยถึงความรู้สึกเฉพาะตัวของท่านกับการบวชในครั้งนั้นว่า…

ถ้าจะว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อสมัยยังทำงานอยู่กับบริษัทเดินเรือสมุทรมาเลเซียนั้น ตอนนั้นยังไม่คิดที่จะบวช และเรื่องพระเรื่องเจ้าก็ยังไม่รู้ประสา ตั้งใจว่าจะทำงานหาเงินมาช่วยเหลือโยมที่อก่ชรา และบรรดาญาติทางบ้านให้เต็มที่ ไม่มีความคิดไปในเรื่องอื่น

แต่ที่นี้พอกลับมาเยี่ยมบ้าน ญาติผู้ใหญ่ต้องการให้บวชก็เลยตัดสินใจมาบวชด้วยไม่อยากขัดใจท่าน

พอลางานได้แล้ว กลับมาถึงบ้านท่านก็ถามว่าอยากจะบวชวัดไหนก็บอกท่านไม่ได้เพราะเรายังไม่มีใจ ไม่มีความคิด จึงบอกต่อท่านว่าแล้วแต่จะจัดการกันเถอะ

พอบอกอย่างนั้นท่านก็ปรึกษากัน ก็ได้ความคิดของญาติท่านหนึ่ง ท่านว่าจะบวชให้ได้เรื่องได้ความ ได้เรียนรู้ศีลธรรมพระวินัยก็ต้องมาบวชที่วัดประชาสันติ เพราะรู้สึกว่าพระเณรที่นี่น่าเคารพนับถือ มีความเคร่งครัดด้านการประพฤติปฏิบัติ ดูจะเอาจริงเอาจังกว่าที่อื่นๆ

จากข้อเสนอนั้นจึงเป็นที่ตกลงเห็นชอบด้วยกันทุกฝ่าย บรรดาญาติจึงกำหนดให้มาบวชที่นี่ มาบวชที่วัดประชาสันติ ซึ่งเป็นวัดธรรมยุตที่เคร่งครัดในกฎระเบียบ มุ่งส่งเสริมให้พระเณรได้ศึกษาและเรียนรู้หลักธรรมในเชิงการประพฤติปฏิบัติมากว่าการศึกษาด้านปริยัติธรรมแต่ฝ่ายเดียว

 

ฝึกฝนตนเพื่ออุปสมบท

เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยบรรดาญาติก็พานายเชือนมาที่วัดประชาสันติ  มากราบนมัสการท่านพระครูญาณานุโยค(หลวงปู่กัน ธนสาโร) เจ้าอาวาสในสมัยนั้นเพื่อปรึกษาหารือในเรื่องการบวช

เมื่อนายเชือนถูกพามาฝากตัวเพื่อให้บวชกับครูบาอาจารย์ผู้เคร่งครัดในกฎระเบียบ และข้อวัตรปฏิบัติของสมณะทั้งหลาย ท่านก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่วัดธรรมยุตทั้งหลาย โดยเฉพาะวงศ์ธรรมยุตในสายกรรมฐานของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต นำมาปฏิบัติกันมาก

ในเบื้องแรกกุลบุตรผู้ตั้งใจที่จะบวชจะต้องอธิษฐานถือปฏิบัติตามศีลพรหมจรรย์ โกนผมห่มผ้าขาวมาอยู่ในวัดเพื่อเรียนรู้แนวทางที่ควรเจริญภายหลังจากได้รับอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุได้แล้ว

โดยในระหว่างเป็นผ้าขาว นอกจากถือศีลพรหมจรรย์แล้ว จะต้องปฏิบัติรับใช้พระเณรครูบาอาจารย์ ปัดกวาดวัดทำความสะอาดเสนาสนะต่างๆ คือทำงานวัดทุกอย่างโดยไม่นิ่งดูดาย

ในขณะเดียวกันต้องให้ความสนใจในตำรับตำรา หมั่นศึกษาหาความรู้ในข้อธรรมะ ฝึกหัดท่องบทมนต์ต่างๆ และหัดปฏิบัติเจริญสมาธิภาวนาควบคู่ไปด้วย

สำหรับท่านอาจารย์เชือนนั้นได้ถือพรหมจรรย์เป็นผ้าขาวอยู่ประมาณ 2 เดือนท่านก็ได้รับอนุญาตให้บรรพชาอุปสมบทได้

พิธีอุปสมบทของนายเชือน จึงได้มีขึ้น ณ พระอุโบสถวัดประชาสันติ ท่ามกลางหมู่คณะสงฆ์ ซึ่งมีท่านพระครูญาณานุโยคเป็นประธาน และเป็นพระอุปัชฌาย์ โดยได้ให้ชื่อฉายาบวชใหม่ว่า ปภัสสโร ภิกขุ

 

ตั้งจิตมั่นพรรษา2

หลังจากได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว พระภิกษุเชือน ปภัสสโร ได้อยู่ปฏิบัติฝึกตนกับพระครูญาณานุโยคผู้เป็นอุปัชฌาย์ ความรู้ในเบื้องต้นคือการครองตนให้เหมาะควรสมแก่ฐานะของนักบวชเป็นพระเป็นสงฆ์ กิจวัตรอันพึงปฏิบัติ การทำวัตรสวดมนต์ต่างๆ ได้เรียนรู้และทดลองปฏิบัติมาแล้ว แต่ครั้งเป็นผ้าขาว จึงเข้ากับหมู่คณะได้ดีไม่ขัดเขิน

หลังจากนั้นพระอุปัชฌาย์จึงหันมามุ่งเนนที่บทมนต์สำคัญๆ ฝึกการท่องปาฏิโมกข์ เพื่อทบทวนศีลพระวินัยให้มีความเคร่งครัดอยู่ทุกขณะ

ที่สำคัญคือได้มีการแนะนำสั่งสอนให้ปฏิบัติกรรมฐาน เจริญสมาธิภาวนาอย่างจริงจัง พระอุปัชฌาย์ได้วางพื้นฐานให้พระอาจารย์เชือนเจริญจิตตภาวนาอย่างจริงจังด้วยการแนะนำให้รู้จักการนั่ง การยืน การเดิน และการนอนอย่างมีสติ กำหนดรู้ในลมหายใจเข้าออกเพื่อให้เกิดสติรู้อยู่ในอารมณ์ปัจจุบัน ไม่คิดฟุ้งซ่านตามอนุสัยที่นอนเนื่อง ความรู้สึกนึกคิดในประการต่างๆ

โดยพื้นฐานที่ท่านได้รับการแนะนำสั่งสอนมาจากท่านพระอุปัชฌาย์นั้น นับเป็นเบื้องต้นของแนวทางปฏิบัติทางจิตที่ท่านพระอาจารย์เชือนจดจำเป็นแนววิธีปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้

ผลจากการบวชแล้วได้ศึกษาธรรมนั้น ทำให้ท่านเกิดจิตปรารถนาเป็นปนิธานแห่งชีวิตของท่านในกาลภายภาคหน้าที่สำคัญขึ้นมาอีกประการหนึ่ง คือการศึกษาเรียนรู้ธรรมะโดยหลักธรรมคำสั่งสอนแห่งพระพุทธองค์ในพระพุทธศาสนาให้ถ่องแท้

พร้อมกันนั้นก็ได้ตั้งใจไว้ว่าชีวิตนี้จะขออุทิศให้กับพระศาสนา นอกจากผ้ากาสาวพัสตร์ที่ครองกายอยู่นี้ จะไม่เอาอาภรณ์ใดมาสวมใส่อีก

 

วิเวกธรรม

หลังจากบวชเป็นภิกษุโดยรับการสั่งสอนการเจริญกรรมฐานเป็นที่สมควร จิตมีความตั้งมั่นในคุณแห่งพระรัตนตรัยดีแล้ว ท่านก็เริ่มหาประสบการณ์อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังยังป่าเขาลำเนาถ้ำต่างๆ

โดยในรยะแรกของการออกไปวิเวกนอกวัด เริ่มแต่ราวป่าในบริเวณวัด สถานที่เงียบสงบใกล้วัดเป็นอันดับแรก ครั้นเมื่อมีความคุ้นเคยกับป่าใกล้วัดแล้วก็ค่อยๆ ขยับห่างวัดออกไปอีก เป็นถ้ำ เป็นป่าช้าต่างๆ ในเขตจังหวัดพังงา โดยท่านได้ปฏิบัติตนอยู่ในแนวทางดังกล่าวมาโดยตลอด ทั้งนี้ได้อยู่ในสายตาการควบคุมแนะนำของท่านพระอุปัชฌาย์ตลอดมา

 

เที่ยวแดนธรรม

หลังจากได้ฝึกหัดภาวนาอยู่กับพระอุปัชฌาย์ที่วัดประชาสันติ จนล่วงเลยพ้นภาวการณ์เป็นพระนวกะผู้บวชใหม่ มีพรรษาเกินกว่า 5 พรรษาคือเวลานั้นมีอายุล่วงแล้วถึง 8 พรรษา และได้วิเวกที่สงบในจังหวัดพังงาจนเจนจบ ก็ได้ปรารถนาจะได้ไปกราบนมัสการครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานท่านอื่นบ้าง เพื่อหาประสบการณ์ทางธรรมเพิ่มเติมท่านจึงได้ชี้แจงเหตุผลกับพระอุปัชฌาย์เพื่อขออนุญาตกระทำตามที่เจตนาไว้

ด้วยความคิดเห็นอันชอบธรรม และความเห็นพ้องของพระอุปัชฌาย์ท่านพระครูญาณานุโยค ท่านพระอาจารย์เชือนจึงมีโอกาสได้ท่องเที่ยวไปในแดนธรรมต่างๆ นับแต่ออกพรรษาในปี พ.ศ.2518

ท่านพระอาจารย์เชือนท่านได้เดินทางไปศึกษากับครูบาอาจารย์องค์สำคัญๆ ได้ไปปฏิบัติบูชายังสถานที่ศักด์สิทธิ์อันเป็นปูชนียสถานปูชนียวัตถุที่มีอยูในประเทศในทั่วทุกภูมิภาคอาทิเช่น

ภาคอีสาน ได้ไปกราบนมัสการหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ พระบุพพาจารย์ผู้สร้างวัดประชาสันติ โดยในครั้งนั้นได้ไปกราบนมัสการท่านที่วัดอรัญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

กราบนมัสการหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย

ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ที่ภูทอกหรือวัดเจติยาคีรีวิหาร อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย

ท่านพระอาจารย์วัน อุตตโม ที่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร

ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร โดยเวลานั้นได้ไปกราบ และอยู่ปฏิบัติกับท่านที่ถ้ำขามหรือวัดถ้ำขามในปัจจุบัน

หลวงพ่อผาง จิตตคุตโต วัดอุดมคงคาคีรีเขต อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น

ภาคเหนือไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ที่วัดถ้ำผาปล่อง

หลวงปูแหวน สุจิณโณ ที่วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

ภาคตะวันออก ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

ส่วนภาคใต้อันเป็นถิ่นกำเนิดนั้น ได้ไปกราบหลวงปู่สงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

หลวงพ่อท่านคล้าย จันทสุวัณโณ วัดจันดี อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช

และที่ขาดเสียไม่ได้คือ การไปกราบนมัสการพระบรมธาตุไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระบรมธาตุเมืองนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาแห่งการเที่ยวแดนธรรมของท่านพระอาจารย์เชือนดังกล่าวนั้นรวมเวลาทั้งสิ้นถึง 8 ปี 8 พรรษาแล้วจึงย้อนกลับมายังถิ่นกำเนิดตามเหตุปัจจัยที่จำเป็น

เนื่องจากวันหนึ่งในกลางปี 2523 ท่านได้รับข่าวสารที่แจ้งตรงมาจากวัดประชาสันติ บอกข่าวให้ทราบว่าท่านพระอุปัชฌาย์ท่านกำลังป่วยหนัก มีคำสั่งให้เรียกตัวท่านพระอาจารย์เชือนกลับวัดโดยด่วน

 

คำสั่งครั้งสุดท้าย

เมื่อเดินทางกลับมาถึงวัดประชาสันติ พระอาจารย์เชือนก็เข้ากราบนมัสการท่านพระครูญาณานุโยค และอยู่ปฏิบัติท่านต่ออย่างใกล้ชิด

ท่านพระครูญาณานุโยคได้กำชับคำสั่งครั้งสุดท้ายไว้ด้วยว่า หากท่านสูญสิ้นไปแล้ว ให้ท่านพระอาจารย์เชือนอย่าได้ท่องเที่ยวไปที่ไหนอีก ให้เอาหลักธรรมที่ได้เรียนรู้มา แนวทางปฏิบัติอันเป็นประสบการณ์ที่ได้รับมานั้นสั่งสอนถ่ายทอดให้แก่ชาวพังงา แก่ญาติโยมทั้งหลายในถิ่นกำเนิด ให้ช่วยฟื้นฟูพระศาสนา โดยเฉพาะการเผยแพร่การปฏิบัติกรรมฐานให้เกิดในถิ่นนี้ด้วย

 

สืบทอดเจตนา

เมื่อพระครูญาณานุโยคมรณภาพลง  คณะสงฆ์พร้อมทั้งบรรดาญาติโยมผู้ศรัทธา แห่งวัดประชาสันติ ได้มีมติเห็นพ้องต้องกันว่าผู้ที่มีความเหมาะสมในการสืบทอดตำแหน่งหน้าที่อันดับต่อไปควรจะเป็น ท่านพระอาจารย์เชือน ปภัสสโร

ด้วยมติที่เห็นชอบจากทุกฝ่าย ท่านพระอาจารย์เชือน ปภัสสโร จึงได้ปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส แล้วต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดประชาสันติอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อจากผู้เป็นอาจารย์แล้ว ด้วยความเอาใจใส่ในงานพระศาสนา ทั้งในด้านการพัฒนาพุทธสถาน การก่อสร้างเสนาสนะทั้งหลายควบคู่ไปกับการพัฒนาจิตใจ ทั้งฝ่ายพระภิกษุสามเณรผู้ถือบวช และอุบาสก อุบาสิกา ฆราวาสผู้ครองเรือนอย่างจริงจัง อย่างเสมอต้น เสมอปลาย

กาลต่อมา หลังจากได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสได้ไม่กี่ปี ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ สามารถให้การอุปสมบทพระภิกษุสามเณร ฝ่ายธรรมยุตในเขตจังหวัดพังงา อีกตำแหน่งหนึ่ง

 

มุ่งพัฒนาคน

ท่านพระอาจารย์เชือนได้เปิดเผยถึงเจตนาที่ท่านตั้งใจไว้ให้ได้รับทราบว่า แท้จริงแล้วท่านไม่ได้ปรารถนาจะมาข้องเกี่ยวกับงานการบริหาร ตั้งใจว่าจะมุ่งแต่การประพฤติปฏิบัติเพียงฝ่ายเดียว

แต่เมื่อต้องมารับหน้าที่เป็นเช่นนี้แล้ว ก็ต้องทำไปตามหน้าที่ที่ได้รับความไว้วางใจให้ดีที่สุด เท่าที่ความสามารถจะพึงมี พอที่จะทำได้

ท่านพระอาจารย์เชือนเปิดเผยต่อไปว่า ที่ท่านตั้งใจไว้นั้น ทท่านต้องการจะพัฒนาคน ต้องการพัฒนาด้านจิตใจมากกว่าการพัฒนาด้านวัตถุ ทุกวันนี้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่านจึงเน้นไปที่จุดนั้นเป็นสำคัญ โดยทานเล่าว่านับแต่ท่านกลับมาอยู่ที่วัดประชาสันตินี้ เมื่อปี 2523 เป็นต้นมา ท่านก็ได้เริ่มทำในสิ่งที่ท่านตั้งใจไว้เป็นขั้นเป็นตอนมาโดยลำดับ

เริ่มตั้งแต่การให้ความรู้รื่องศีล เรื่องทาน จนมาถึงการภาวนา โดยได้กระทำตามความเหมาะสมทุกกลุ่มคนตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่

สำหรับในวัยเด็กวัยเรียนก็จะมีการไปอบรมด้านศีลธรรมที่โรงเรียนตามที่ได้รับการนิมนต์มาในหลายๆ รุ่น

สำหรับในวัยผู้ใหญ่ก็จะมีการเทศน์สอน และแนะนำทุกครั้งที่มีโอกาส อย่างเช่นเมื่อเขานำอาหารมาถวายในตอนเช้า ก่อนจะฉันก็จะเทศน์เรื่องของทานเป็นอย่างไร รักษาศีลผลจะเป็นอย่างไร ถ้าได้ภาวนาแล้วจะได้อะไร

ขณะที่พระพิจารณาอาหารก็จะให้ญาติโยมนั้นทำสมาธิไปด้วย 5-10 นาทีก็ยังดี จะได้เป็นบารมีของเขาต่อในภายหน้า

 

ผลงานอื่นๆ

– ก่อสร้างมูลนิธิโพธิธรรมประภาส

– สร้างสวนป่ากรรมฐานเขาม่วง

– สร้างสำนักสงฆ์ในหนด