การพิจารณา
(ธรรมะโดยพระครูโพธิธรรมประภาส หรือพระอาจารย์เชือน ปภัสสโร วัดประชาสันติ)
การสร้างสมาธินี่ก็สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นรากเป็นฐานของปัญญา อย่างที่เคยบอกว่าสมถะกับวิปัสสนานี่มันเป็นของคู่กัน แยกกันไม่ได้ เมื่อเข้าสู่สมาธิได้แล้วก็คือมีฐานมั่นคงแล้ว ทีนี้ก็ต้องเอาฐานคือความสงบนี่แหละมาใช้ เพื่อที่จะใช้เป็นวิปัสสนาต่อไป คือมาสร้างอุบายที่ก่อให้เกิดปัญญาต่อไป ทีนี้อุบายแบบไหนล่ะ ก็คือการพิจารณาธาตุขันธ์ พิจารณากายให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อจะได้รู้แจ้งเห็นจริง ไม่ใช่รู้จำ
ทีนี้เวลาจิตพิจารณาก็อย่าไปบังคับมัน ให้มันสอนตัวมันเอง ไม่ต้องไปบังคับมัน อันนี้เรียกว่าธรรมวิจย บางทีเวลามันเกิดสลด สังเวชขึ้นมามันก็รวมวูบลงได้ รวมศูนย์ลงเป็นหนึ่งได้ หรือไม่อยู่ๆ มันก็หลบเข้าไป นิ่งสงบอยู่อย่างนั้น ก็ไม่ต้องไปกังวลมัน เพราะจิตมันหลบใน มันเข้าไปพักแต่มันก็รู้อยู่ตลอด เพียงแต่มันเข้าไปพัก ไม่ต้องไปเร่ง ไม่ต้องไปกังวล เหมือนกับคนนั่นแหละ เวลาทำงานหนักก็พักเอาแรงก่อนเพื่อไปทำงานต่อ อันนี้ก็เหมือนกัน มันเข้าไปพัก พอมีพลังก็ออกมาพิจารณาของมันต่อ
ทีนี้พิจารณานี่แรกเริ่มก็ยกเอามาอย่างหนึ่งก่อน จะเอา ผม ขน ฟัน หนัง เล็บอะไรก็ได้มาอย่างหนึ่งก่อน แล้วมาพิจารณา ซอยออกให้ยิบๆ เลยนะ เอาให้ละเอียดเลย กลับไปกลับมาอยู่นั่นแหละ ทำซ้ำๆ ให้เป็นประจำ หยิบยกขึ้นมาพิจารณาอยู่ทุกเวลา เอามันเข้ามาสู่ไตรลักษณ์ให้ได้ ให้เข้าธาตุสี่ก็ได้ แยกให้มันเอาเข้ามาสู่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาให้ได้ กลับไปกลับมาอย่างที่บอกให้เกิดความชำนิชำนาญ ให้มันรู้จริงขึ้นมาให้ได้เลย ให้เห็นตามสภาพของความเป็นจริง ไม่ใช่แค่รู้ว่ามันเป็นแบบนั้นๆ อันนั้นมันรู้จำ ไม่ได้รู้แจ้ง ทีนี้เวลามันรู้ได้อย่างหนึ่ง ไอ้อย่างที่เหลือมันก็พลอยได้ไปด้วยกันทั้งหมด จำไว้ว่ายกเอามาอย่างเดียว ทำแค่อย่างเดียว ไม่ต้องไปทำหลายอย่าง เดี๋ยวมันจะพากันหลง ทำแล้วทำอีก ทำแล้วทำอีกอยู่อย่างนั้นแหละ อย่าทำแค่ครั้งเดียว มันจะไม่ได้อะไร ทำจนมันขึ้นมาได้จริงๆ พอได้อันหนึ่ง อันอื่นๆ ก็จะได้ทั้งหมดนั่นแหละ
เวลาพิจารณาแล้วใจมันส่องออกนอกบ้าง หรือว่าเกิดเวทนา ปวดนั่น ปวดนี่ ก็ให้ยกเอาข้อธรรมมาพิจารณาอีกแหละ ให้เข้าสู่ไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือมันไม่เที่ยง อะไรๆ ก็ไม่เที่ยง ให้มันสอนมันเองอยู่เรื่อย อบรมจิตอยู่เรื่อยๆ ว่าทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น อาการที่เกิดขึ้นนั้น ก็ไม่มีอะไรเที่ยง ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่อย่างนั้นแหละ
พวกเรานี้ก็เหมือนกัน เวลาไปโรงพยาบาลกัน ไปเยี่ยมไข้ ไปให้เลือด หรือว่าต้องไปนอนอยู่โรงพยาบาล ยิ่งห้องรวมยิ่งดี อะไรก็ตามใจ ต้องรู้จักดู และพิจารณาบ้าง ที่นอนๆ กันอยู่นั่น ใส่สายระโยงระยางเวลาได้ไปเห็นแล้วต้องรู้จักพิจารณาบ้าง นั่นแหละวิเศษนักแหละ ไม่ใช่ไปสักแต่ไปเฉยๆ ไปแล้วให้มันได้กลับมา เมื่อก่อนตอนเราไปกรุงเทพที่โรงพยาบาลศิริราช ตอนนั้นไปแล้วก็ขออนุญาตเขาเข้าไปดูในห้องเก็บศพ ตอนแรกเขาก็ไม่ได้อนุญาตให้เข้าไป แต่เราก็ชี้แจงเหตุผล บอกว่าอาตมาขอเข้าไปดูเพื่อพิจารณาในเชิงกัมมัฏฐาน ไม่ได้จะมาเพื่อเอาอะไร ทีนั้เขาฟังเหตุผล เขาเลยให้เข้าไปได้ เข้าไปนี่ทั้งกลิ่นคาวกลิ่นอะไรเต็มไปหมด มันฟุ้งกระจายไปทั่วห้องเลยนะ เราเข้าไปนี่รู้สึกได้เลย เห็นศพเต็มไปหมด จิตมันสลด สังเวชขึ้นมาทันที มันรวมนิ่งอยู่เลย พออยู่บรรยากาศแบบนี้มันเลยรวมลงไปเลย ทั้งสลดสังเวช ดีมากๆ เลย ยิ่งพระเณรถ้าได้เข้าไปจะมีประโยชน์มากเลย
คัดลอกมาจากหนังสือ…นานาสาระธรรม
เรียบเรียงข้อมูลโดย…นายกวิน ตันทวีวงศ์ (จากธรรมะที่ได้รับฟังมา และรวบรวมไว้ในภายหลัง)